โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการประยุกต์ใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์สำหรับนักศึกษากลุ่ม Honors ประจำปีการศึกษา 2567 (รุ่นที่ 11)

feather-calendarPosted on 5 พฤศจิกายน 2024 document ข่าวกิจกรรมกิจกรรมนอกหลักสูตรปี 2567Highlight
แชร์

สำนักงานฯ จัดกิจกรรมส่งเสริมทักษะนอกห้องเรียนให้นักศึกษาผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิชาการที่อยู่ในความดูแล เพื่อเติมเต็มศักยภาพของนักศึกษาควบคู่ไปกับการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียน Honors โดยทางสำนักงานฯ  ได้ร่วมมือกับนักศึกษา GEO รุ่นพี่จัดกิจกรรมเพื่อทำความรู้จักและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง ถือเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความผูกพันและสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ โดยเน้นการทำงานเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายทั้งสาขาวิชาและชั้นปี  

การจัดกิจกรรมในวันเสาร์ที่ 14 และวันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน 2567 จัดขึ้นที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยรูปแบบของการจัดกิจกรรม เริ่มต้นจากการพานักศึกษาไปยังสะพานข้ามแม่น้ำแคว ชมสะพานข้ามแม่น้ำแคว และประวัติศาสตร์ของการสร้างสะพาน และเก็บภาพที่ระลึกร่วมกัน

หลังจากนั้นออกเดินทางสู่ อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ รับฟังบรรยายจากภัณฑารักษ์จินตนา ถึงประวัติความเป็นมาของอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ ชมโบราณสถานหมายเลข 1 ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมและปฏิมากรรมคล้ายคลึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์นักสร้างปราสาทแห่งขอม ศิลปกรรมที่สำคัญที่พบ คือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี และนางปรัชญาปารมิตา

และออกเดินทางไปยัง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า รับฟังการบรรยายจากคุณสำเนา จาดทองคำ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า บรรยายถึงโครงสร้างและสถาปัตยกรรมของอาคารจัดแสดงหลังใหม่ ที่ปรับปรุงภูมิทัศน์รอบอาคารเพื่อเชื่อมโยงกับเรื่องการเลือกตั้งถิ่นฐานของผู้คนในอดีต ประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ และนำชมห้องจัดแสดงนิทรรศการทั้ง 3 ชั้น ซึ่งทั้งสามสถานที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขุดค้นพบเครื่องมือก่อนประวัติศาสตร์ 

เปิดกิจกรรม ณ ห้องประชุม แนะนำโครงการอบรมเชิงปฎิบัติการประยุกต์ใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ครั้งที่ 11 โดยเชิญ ผศ.ดร.วิมลศิริ ปรีดาสวัสดิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ กล่าวเปิดโครงการ และ รศ.ดร.ปริญญา เสงี่ยมสุนทร รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ กล่าวเปิดโครงการและให้คำแนะนำการใช้คณิตศาสตร์กับกิจกรรมที่จะได้ทำร่วมกัน

คณะทำงานและหัวหน้าทีมฝ่ายนักศึกษา ประกอบด้วย นายนวพล ตันประเสิรฐ และนางสาวเปมิกา จงขวัญยืน นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ชั้นปีที่ 2 ได้ร่วมเดินทางเพื่อหาสถานที่ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เมื่อได้เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า และอุทยานประวัติเมืองสิงห์ ทำให้เกิดแนวคิดในการสร้างโจทย์ทางประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกับวิชาคณิตศาสตร์ โดยการระดมความคิดและแลกเปลี่ยนไอเดียภายในคณะทำงาน และทีมงานของนักศึกษาแกนนำ ซึ่งได้โจทย์เกี่ยวกับ Hamiltonian Path มีนิยามว่า จะเดินทางอย่างไรให้ผ่านเมืองสำคัญแต่ละแห่งเพียงครั้งเดียว เพื่อใช้ในการเดินชมจุดสำคัญของอุทยานประวัติศาสตร์ ตามที่กำหนดไว้

จากนั้น ทีมงานของนักศึกษาจึงวางแผนและออกแบบกิจกรรมที่สอดคล้องกับนิยามดังกล่าว โดยสอดแทรกเรื่องราวโบราณก่อนยุคประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ของเมืองกาญจนบุรี พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขของการสร้างโมเดลปราสาท การคำนวณเส้นทางที่ใช้ในการเยี่ยมชมปราสาท การคำนวณทางการเงิน และการป้องกันปราสาทจากภัยพิบัติ

กิจกรรมสร้างโมเดล

นักศึกษาแบ่งกลุ่มออกเป็น 5 กลุ่ม โดยสร้างอุทยานประวัติศาสตร์ตามโจทย์ที่ได้รับ ได้แก่

กลุ่มที่ 1 อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

กลุ่มที่ 2 อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

กลุ่มที่ 3 อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

กลุ่มที่ 4 อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี

กลุ่มที่ 5 อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

โดยทั้ง 5 กลุ่มจะต้องสร้างโมเดลตามเงื่อนไข ต่อไปนี้

  1. ต้องสร้างสิ่งปลูกสร้าง 4 จุด ภายในบริเวณที่กำหนด ตามหมายเลขของสิ่งปลูกสร้างและวงกลมที่ตรงกัน
  2. ต้องสร้างภูมิประเทศ (Terrain) ตามแบบที่กำหนดให้
  3. ขนาดของสิ่งปลูกสร้างต้องถูกต้องตาม Scale ที่กำหนดให้
  4. ระยะห่างระหว่างสิ่งปลูกสร้างต้องถูกต้องตาม Scale ที่กำหนดให้
  5. โมเดลที่สร้างมีความใกล้เคียงกับของจริง
  6. โมเดลมีความสวยงาม
  7. ต้องแจกแจงบัญชีรายรับรายจ่าย

หลังจากนั้น ให้เวลาในการทำแบบจำลองโมเดลอุทยานประวัติศาสตร์ เป็นเวลา 2 ชั่วโมง เมื่อผ่านไป 1 ชั่วโมง 30 นาที พิธีกรจึงทำการประกาศว่าจะมีการทดสอบความแข็งแรงของโมเดล ด้วยการจำลองภัยพิบัติต่างๆ ตามที่แต่ละกลุ่มสุ่มได้ ซึ่งภัยพิบัติและวิธีเกิดภัยพิบัติที่กำหนดไว้มีดังต่อไปนี้

  1. ฝนตก ทดสอบโดยการฉีดสายยาง เป็นเวลา 20 วินาที
  2. แผ่นดินไหว ทดสอบโดยการเขย่าฐานโมเดล เป็นเวลา 20 วินาที
  3. หินถล่ม ทดสอบโดยการปาลูกเทนนิส ในเวลา 20 วินที และระยะห่างจากโมเดล 2 เมตร
  4. พายุ ทดสอบโดยการใช้แผ่นฟิวเจอร์บอร์ดพัด เป็นเวลา 20 วินาที
  5. ดินสไลด์ ทดสอบโดยการปล่อยฐานโมเดลจากที่สูง ด้วยวิธีการชูสุดแขนของผู้ทำการทดสอบ
  6. น้ำหลาก ทดสอบโดยการปล่อยน้ำจากกะละมัง ระยะห่าง 1 เมตรจากโมเดล

นักศึกษาได้รับฟังบรรยายจากคุณกมลวรรณ ไร่ประเสริฐกุล ผู้จัดการไร่แสงสกุลรุ่ง ถึงการทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน และการเพาะเลี้ยงไข่ผำในบ่อซีเมนต์ด้วยระบบน้ำกรอง รวมถึงการแปรรูป

ไร่แสงสกุลรุ่ง เป็นฟาร์มที่ดำเนินการเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน ซึ่งเป็นรูปแบบเกษตรที่เน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยไม่ใช้สารเคมีหรือปุ๋ยเคมีในการเพาะปลูก พื้นที่ภายในไร่ถูกแบ่งเป็นหลายโซนสำหรับการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ เพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ และทำให้ระบบเกษตรแบบอินทรีย์สามารถพึ่งพาตนเองได้ทั้งในด้านอาหารและทรัพยากร

 

การเพาะเลี้ยงไข่ผำในบ่อซีเมนต์ด้วยระบบน้ำกรอง  ไข่ผำ (หรือไข่น้ำ) เป็นสาหร่ายน้ำจืดชนิดหนึ่งที่นิยมเพาะเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ที่ออกแบบมาเพื่อการควบคุมสภาพแวดล้อม โดยระบบน้ำกรองในบ่อจะช่วยกรองสิ่งสกปรกออกจากน้ำและรักษาคุณภาพน้ำให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของไข่ผำ โดยขั้นตอนการทำงานของระบบมีดังนี้

บ่อซีเมนต์ ใช้บ่อซีเมนต์ขนาดพอเหมาะที่มีการออกแบบเพื่อการควบคุมอุณหภูมิและปริมาณน้ำ ทำให้ไข่ผำสามารถเจริญเติบโตได้อย่างเหมาะสม

ระบบน้ำกรอง น้ำในบ่อจะถูกหมุนเวียนผ่านระบบกรอง ซึ่งช่วยกำจัดสิ่งสกปรกและสารพิษที่อาจปนเปื้อนในน้ำ โดยใช้ระบบกรองหลายชั้นที่รวมถึงทรายและถ่านกัมมันต์ เพื่อให้น้ำสะอาดและปลอดภัยสำหรับไข่ผำ