สำนักงานฯ จัดกิจกรรมเพื่อให้นักศึกษาได้เพิ่มประสบการณ์ และนำความรู้ไปเชื่อมโยงกับสาขาและการทำงาน โดยนำนักศึกษาเข้าดูงานในหน่วยงานภาคอุตสาหกรรมตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2567 ณ โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา, บริษัท เกลือพิมาย จำกัด, ปราสาทหินพิมาย, สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน, สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ, สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ในจังหวัดนครราชสีมา และนครนายก
กฟผ.ลำตะคอง เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ ที่สร้างอยู่ใกล้กับเขื่อนลำตะคอง และยังเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับแห่งแรกของประเทศไทย ทำงานโดยการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำของเขื่อนกรมชลประทาน ไปเก็บไว้ที่อ่างพักน้ำ บนเขายายเที่ยง ในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อยหรือช่วงกลางคืนถึงเช้า และในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงหรือช่วงกลางวันถึงค่ำ จะปล่อยน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า และปล่อยลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองเหมือนเดิม ซึ่งอ่างพักน้ำบนเขายายเที่ยงสามารถเก็บกักน้ำได้ถึง 10.3 ล้านลูกบาศก์เมตร และตัวอาคารโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ถูกสร้างไว้ใต้ระดับผิวดินลึกกว่า 350 เมตร เป็นโรงไฟฟ้าใต้ดินแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จำนวน 2 เครื่อง ที่ใช้กังหันน้ำแบบสูบกลับชนิด Vertical Shaft Francis Type มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 500 เมกะวัตต์


นักศึกษาเข้าศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน ที่ได้จากพลังน้ำ ซึ่งออกแบบเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ, พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน ที่ได้จากพลังงานลม ซึ่งเกิดจากกังหันลมลำตะคอง ที่ทาง กฟผ.มุ่งมั่นที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน, การนำพลังงานไฟฟ้าไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และนำไปใช้หมุนเวียนในช่วงกลางวัน และกลางคืน


จากนั้น นักศึกษาได้เข้าศึกษาดูงานที่ บริษัท เกลือพิมาย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเกลือสินเธาว์ในภาคอีสานของประเทศไทย พบว่าเกลือที่ผลิตขึ้น มีบทบาทสำคัญไม่เพียงแต่ในการปรุงหรือถนอมอาหารเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนประกอบสำคัญในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมเคมี ปิโตรเคมี และการผลิตน้ำประปา ภาคอีสานถือเป็นแหล่งผลิตเกลือที่สำคัญ โดยมีการทำเหมืองเกลือทั้งแบบดั้งเดิมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งการผลิตเกลือในภาคอีสานมีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยเกลือที่ผลิตได้ไม่เพียงแต่ใช้ในท้องถิ่น แต่ยังส่งออกไปยังภูมิภาคอื่น ๆ การทำเหมืองเกลือในภาคอีสานจึงเป็นกิจกรรมที่สำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ปัจจุบันเกลือสินเธาว์ในภาคอีสานผลิตจาก แอ่งเกลือใหญ่สองแห่ง ได้แก่ แอ่งสกลนครและแอ่งโคราช ซึ่งมีชั้นหินเกลือใต้ดินเกิดจากการทับถมของตะกอนในอดีต เมื่อพื้นที่นี้เคยเป็นทะเลตื้น ชั้นหินเกลือเหล่านี้มีความลึกตั้งแต่ 30-800 เมตร ทำให้ภาคอีสานเป็นแหล่งเกลือหินที่สำคัญของประเทศ โดยคาดการณ์ว่ามีปริมาณเกลือมากถึง 1.8 ล้านล้านตัน โดยในอดีตการทำเหมืองเกลือในภาคอีสานมีลักษณะดั้งเดิม คือ ชาวบ้านนำน้ำเค็มมาต้มหรือขูดเอาผงดินเค็มมาหมักน้ำแล้วต้มเพื่อให้ได้เกลือ ปัจจุบันการทำเหมืองเกลือได้พัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น ได้แก่ การทำเหมืองละลายเกลือ (Solution Mining) ซึ่งนำน้ำจืดลงไปละลายเกลือหินในชั้นเกลือลึก จากนั้นสูบน้ำเกลือขึ้นมาและนำไปผ่านกระบวนการเคี่ยว เพื่อให้ได้เกลือบริสุทธิ์




วิธีการผลิตเกลือ จะเป็นระบบหมุนเวียน โดยเริ่มจากการนำน้ำไปละลายเกลือในโพรงข้างล่าง ได้น้ำเกลือ แล้วนำไปทำให้บริสุทธิ์ โดยการนำน้ำเกลือเก็บไว้ในถังพักขนาดใหญ่ และถ่ายไปยังถังทำปฏิกิริยาเคมี (REACTORS) ซึ่งมีการเติมสารเคมีทำปฏิกิริยากับสารละลายในน้ำเกลือให้เกิดเป็นตะกอน (SLUDGE) ตกอยู่ก้นถัง เมื่อสูบตะกอนก้นถังออกไปก็จะเหลือน้ำเกลือบริสุทธิ์ (PURIFIED BRINE) ซึ่งจะถ่ายไปยังถังพักน้ำเกลือบริสุทธิ์ แล้วส่งไประบบเคี่ยวเกลือให้ได้เป็นเกลือบริสุทธิ์หลังจากนั้นสลัดเกลือให้แห้งโดยเครื่องสลัดแห้ง ที่ใช้ระบบ Centrifuge ได้ผลผลิตเป็นเกลือบริสุทธิ์ (VACUUM SALT) ถึง 99.99 % โดยมีความชื้น (MOISTURE) 2-2.5 % โดยน้ำหนัก
เกลือที่ได้หลังจากผ่านระบบสะบัดแห้ง (CENTRIFUGE) ส่วนหนึ่งจะถูกลำเลียงด้วยสายพาน (BELT CONVEYOR) ไปเก็บไว้ในโรงเก็บเพื่อจำหน่ายต่อไป อีกส่วนหนึ่งจะผ่านสายพานลำเลียงที่มีเครื่องชั่งน้ำหนัก (BELT WEIGHER) เพื่อปรับอัตราการฉีดน้ำยาโปตัสเซียมไอโอเดต (KIO3 SOLUTION) ลงบนเกลือก่อนนำไปอบแห้งผลิตเป็นเกลือใช้ประกอบอาหาร ซึ่งมีความเข้มข้นของไอโอดีน 50 พีพีเอ็ม ตามมาตรฐานสากล ซึ่ง สามารถป้องกันโรคคอพอกและปัญญาอ่อนได้

และนักศึกษาเข้าศึกษาดูงานด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมปราสาทหินพิมาย ได้รับฟังการบรรยายเกี่ยวกับเทคโนโลยีอะนัสติโลซิส (Anastylosis) ที่ช่วยบำรุงโบราณสถานโดยการนำชิ้นส่วนต่างๆ ของตัวปราสาท ประกอบเข้าด้วยกันตามหลักวิชาการและนำกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิม รวมทั้งได้บูรณะโบราณสถานในเมืองพิมาย อย่างต่อเนื่อง, ประวัติศาสตร์ระหว่างไทยกับขอม (กัมพูชา) ว่าสมัยไหนเกิดอะไรขึ้นบ้าง, ประติมากรรมของคนยุคนั้นว่ามีความเชื่ออย่างไร และสิ่งที่เขาสร้างต้องการสื่อหรือระลึกถึงอะไร
นอกเหนือจากการพานักศึกษาเข้าดูงานในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว ทางสำนักงานฯ ได้พานักศึกษาเรียนรู้ที่สถาบันวิจัยที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัยในประเทศไทยอีกด้วย
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (Synchrotron Light Research Institute – SLRI) นักศึกษาได้เข้าศึกษาดูงาน และได้รับฟังการบรรยายเกี่ยวกับการสร้างแสงซินโครตอน โดยการสร้างแสงนี้จะต้องใช้การทำงานของหลายอุปกรณ์ เช่น ปืนยิงอิเล็กตรอนผลิตอิเล็กตรอนออกมา หลังจากนั้น อิเล็กตรอนจะถูกเร่งความเร็วด้วยเครื่องเร่ง อนุภาคแนวตรง หลังจากนั้นจะถูกเร่งต่อด้วยเครื่องเร่งอนุภาคแบบวงกลม ถูกเร่งจนมีพลังงาน 1200 ล้านอิเล็กตรอนโวลและส่งต่อไปที่วงกักเก็บอิเล็กตรอน และเมื่ออิเล็กตรอน ผ่านเแม่เหล็ก 2 ชั้น อิเล็กตรอนจะเกิดการเลี้ยวโค้งและปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปแบบของแสงซึ่งแสงนั้น มีชื่อว่าแสงซินโครตรอนและแสงจะผ่านจุดลำเลียงแสงและนำแสงนั้นไปใช้ต่อไป, ปรากฎการต่างๆของแสงซินโครตรอนเมื่อตกกระทบวัตถุ, การสร้างชิ้นงานสามมิติในระดับไมโครเมตร, สิ่งความรู้และเทคนิคเรื่องแสงซินโครตรอนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในการวิศวกรรม เช่น เทคโนโลยีสุญญากาศเพื่อการเก็บรักษาและคงสภาพฟอสซิล เทคโนโลยีระบบควบคุมการประกอบและการทดสอบห้องความดันลบความดันบวก เป็นต้น






สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (National Astronomical Research Institute of Thailand – NARIT) จากการไปเยี่ยมชม NARIT ในครั้งนี้ ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับดาราศาสตร์และจักรวาล ตั้งแต่การทำความเข้าใจเกี่ยวกับดวงดาวต่างๆ ไปจนถึงเทคโนโลยีที่ใช้ในการสำรวจอวกาศ เช่น กล้องโทรทรรศน์ เครื่องมือวัดต่างๆ ฟิสิกส์ที่ใช้ในอวกาศแต่ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อมนุษย์บนโลก เช่น กล้องถ่ายรูป บรรจุภัณฑ์สำหรับการบริโภค ยารักษาโรคบางตัว NARIT ยังมีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการค้นพบใหม่ๆในวงการดาราศาสตร์ไม่ว่าจะมาจากในหรือต่างประเทศ รวมถึงการอธิบายหลักการทำงานของสิ่งประดิษฐ์ต่างๆเกี่ยวกับดาราศาสตร์หรือการทดลองทาง ฟิสิกส์ง่ายๆ และกล้องดูดาวที่ใช้ในการสังเกตการณ์ท้องฟ้า และนอกจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์, ฟิสิกส์ที่ได้รับแล้ว ยังได้เรียนรู้ถึงความพยายามของนักดาราศาสตร์ นักวิจัยไทย และรัฐบาลไทยที่ทำงานหนักและสนับสนุนเพื่อให้เราได้รู้จักกับจักรวาลมากขึ้น รวมถึงความสำคัญของการวิจัยที่ช่วยให้มนุษย์เข้าใจเรื่องราวของท้องฟ้าและจักรวาลได้ดียิ่งขึ้น โดยผ่านการตั้งศูนย์การเรียนรู้ NARIT กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ การเดินทางครั้งนี้ยังทำให้เข้าใจถึงความเชื่อมโยงของประเทศไทยกับการวิจัยระดับโลก และบทบาทของ NARIT ในการเป็นศูนย์กลางของดาราศาสตร์ในประเทศ
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (Thailand Institute of Nuclear Technology – TINT) นักศึกษาได้รับฟังการบรรยายเกี่ยวกับเครื่องโทคาแมค 1 ณ อาคารปฏิบัติการเครื่องโทคาแมค เกี่ยวกับประโยชน์ของเครื่องที่สามารถสร้างพลาสมาที่อุณหภูมิประมาณ 300,000 องศาเซลเซียส การทำงานของเครื่องที่ต้องใช้ระบบ สูญญากาศ แล้วเติมแก๊สไฮโดรเจนที่มีความดันสูงเข้าไป เพื่อจุดพลาสมา การเคลื่อนที่ของพลาสมาในเครื่องที่ใช้สนามแม่เหล็กในการควบคุมทิศทางของพลาสมา ให้เป็นเกลียวเพื่อไม่ให้สัมผัสกับผนังของเครื่องในขณะที่เครื่องทำงาน รวมถึงเทคโนโลยีการวัดอุณหภูมิของพลาสมาโดยใช้แสงเลเซอร์ เข้าฟังการใช้เทคโนโลยีการวัด อุณหภูมิโดยใช้แสงเลเซอร์ โดยการสร้างลำแสงเลเซอร์ในห้องปฏิบัติการ แล้วยิงเลเซอร์ไปวัดอุณหภูมิในเครื่องโทคาแมค และวัดการเปลี่ยนแปลงของแสงเลเซอร์ที่ยิงเข้าไป แล้วค่อยทำการแปลงเป็นอุณหภูมิของจุดที่วัด และเข้าฟังบรรยายการฉายรังสีอัญมณีด้วยรังสี ณ อาคารเครื่องเร่งอิเล็กตรอน เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ จากรังสีมาช่วยทำให้อัญมณีเกิดการเปลี่ยนแปลง และทำให้ราคาของอัญมณีเปลี่ยนแปลงไปด้วย หลังจากนั้นเดินชมกระบวนฉายรังสี ตั้งแต่เครื่องกำเนิดรังสี การเตรียมวัตถุดิบ จนถึงการฉายรังสี หลังจากนั้นไปชมการฉายรังสีแกมมาโดยใช้ไอโซโทปรังสี Co-60 ตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบ ไปชมห้องฉายรังสี จริง และห้องควบคุมการฉายรังสี




